Tuesday 8 February 2011

รุ้งหัวกลับ นักวิชาการเผยแท้จริงคือ อาทิตย์ทรงกลด แบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล


นักวิชาการเผย “รุ้งหัวกลับ” แท้จริงคือ“อาทิตย์ทรงกลด”แบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล
ข่าวทั่วไป ThaiPR.net -- อังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 17:46:29 น.
กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--สวทช.






จากกรณีที่มีการนำภาพคล้าย รุ้งกินน้ำกลับหัว ซึ่งถ่ายโดย ดร.แจ็กเกอลีน มิตตอง นักดาราศาสตร์ อวกาศแห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งถ่ายภาพได้จากท้องฟ้าบริเวณใกล้บ้านพักที่ประเทศอังกฤษนั้น ได้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเกิดรุ้งกินน้ำมีลักษณะกลับหัวเช่น นี้อาจเป็นลางร้าย หรือเป็นสัญญาณเตือนการเกิดภัยพิบัติ รวมถึงความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วโลกได้นั้น (ที่มาข่าว http://hilight.kapook.com/view/55965) ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายว่า ภาพ “รุ้งกลับหัว” ไม่ใช่รุ้งกินน้ำที่มีลักษณะหัวกลับแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ตกกระทบกับผิวของหยดน้ำแล้วหักเหออกมา เป็นแสงสีรุ้ง ดังเช่นรุ้งกินน้ำทั่วไป แต่เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ตกกระทบไปยังผลึกน้ำแข็งหกเหลี่ยมในเมฆ และหักเหผ่านผลึกออกมาจนเกิดเป็นแถบสีรุ้ง ซึ่งเรียกว่า อาทิตย์ทรงกลด (solar halo) โดยภาพเส้นโค้งสีรุ้งที่อยู่เหนือดวงอาทิตย์ในภาพนั้น คือ อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (CircumZenithal Arc : CZA)


“อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล เกิดจากแสงอาทิตย์พุ่งเข้าผิวด้านบนของผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมแบนๆ ที่อยู่ภายในเมฆระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) แล้วหักเหภายในผลึกรูปแผ่นทะลุออกไปทางผิวด้านข้าง ซึ่งแสงที่เดินทางผ่านผลึกจะปรากฏเป็นเส้นโค้งสีรุ้งอยู่เหนือดวงอาทิตย์ โดยมีส่วนโค้งหงายขึ้น และมีสีแดงอยู่ด้านใกล้ดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงฤดูฝนเมื่อปี 2553 โดยมีสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ บันทึกภาพไว้ได้

“เส้นโค้งนี้มีลักษณะเสมือนหนึ่งเป็นส่วนโค้งของวงกลมที่อยู่รอบจุดยอด ฟ้า หรือจุดจอมฟ้า (zenith) ซึ่งเป็นจุดเหนือศีรษะ จึงเรียกว่า เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (circumzenithal arc) คำว่า circum มีรากศัพท์เดียวกับ circle ที่แปลว่าวงกลม นั่นเอง เส้นโค้งนี้มีชื่อย่อคือ CZA (CircumZenithal Arc) โดยบางคนมองว่าเส้นโค้ง CZA เปรียบเสมือน “รอยยิ้มขนาดยักษ์บนท้องฟ้า”
ภาพแสดงอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล
ที่มาของภาพ : ชมรมคนรักมวลเมฆ

ทั้งนี้เส้นโค้ง CZA จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำ หรือมีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าไม่เกิน 32.3 องศา เท่านั้น เพราะที่ค่านี้ เส้นโค้ง CZA จะอยู่ใกล้จุดจอมฟ้าและจางลงจนมองไม่เห็น โดยเราจะเห็นเส้นโค้ง CZA ได้ชัดเจนเมื่อดวงอาทิตย์มีมุมเงยในช่วง 15-25 องศา”

ดร.บัญชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าอาทิตย์ทรงกลดคือ วงกลมสีรุ้งล้อมรอบดวงอาทิตย์ หรือมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า การทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา เท่านั้น แต่ความจริงแล้วการทรงกลดของดวงอาทิตย์มีลักษณะที่แตกต่างกันมากกว่า 30 รูปแบบ เนื่องจากผลึกน้ำแข็งรูป 6 เหลี่ยม ที่ล่องลอยอยู่ในเมฆเมฆซีร์โรสเตรตัส ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับปรากฏการณ์ทรงกลดนั้นมีถึง 3 แบบ ได้แก่ 1) ผลึกรูปแผ่น 2) ผลึกรูปแท่ง และ 3) ผลึกรูปพีระมิด อีกทั้งแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผ่านผลึกน้ำแข็งก็สามารถเข้าได้หลายทิศทาง จึงทำให้การทรงกลดของดวงอาทิตย์นั้นมีรูปแบบที่หลากหลายด้วย


อย่างไรก็ดีภาพ “รอยยิ้มสีรุ้ง” หรือ การอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัลนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก มองในแง่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงถือว่าเป็น “เรื่องดี” และเชื่อว่าเราจะยังมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดรูปแบบอื่นๆ จำนวนมาก ดังเช่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ประเทศไทยก็ได้เกิดการทรงกลดแบบซันด็อกที่อุบลราชธานีและศรีษะเกษ ซึ่งสร้างความประทับใจและทำให้คนจำนวนไม่น้อยสนใจท้องฟ้าและธรรมชาติรอบตัว เรา


สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรงกลดแบบต่างๆ ของดวงอาทิตย์ สามารถศึกษาจากเว็บของ ชมรมคนรักมวลเมฆ (http://cloudloverclub.com/pages/halo/) หรือสอบถาม ชมรมคนรักมวลเมฆ สาขา FaceBook ได้โดยสมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ

ที่มา http://beta.ryt9.com/s/prg/1084057

---------------------------------------
รับหิ้ว ขายส่ง เครื่องสำอางค์เกาหลีทุกยี่ห้อ ของแท้ราคาถูก ไม่มีค่าหิ้ว
Skinfood, Etude, Baviphat, Beauty Credit, Rojukiss, The Face Shop, Tony Molly, Missha, Nature Replubic, VOV, Welcos, Holika, Bergamo
รับสั่งซื้อของจากเวป GMarket.com เวปเกาหลีที่มีแต่ของน่ารักสไตล์เกาหลีเต็มไปหมดค่ะ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แฟชั่นเกาหลี

No comments:

Post a Comment